สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาและมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมสวนสุนันทาวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๒ เรื่อง “ตำรับอาหารไทยสู่ครัวโลก : อาหารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน”ณ โรงแรมเดอะรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเป็นประธานเปิดงาน และได้รับเกียรติจากนายกร ทัพพะรังสี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “วัฒนธรรมชาววัง” และการบรรยายพิเศษจาก อาจารย์วันดี ณ สงขลา โรงเรียนสอนอาหารครัววันดี วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี ในหัวข้อเรื่อง “ตํารับอาหารไทยสู่ครัวโลก : อาหารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน” ในการประชุมวิชาการครั้งนี้มีผู้ที่สนใจทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยส่งบทความเข้าร่วมและผ่านการคัดกรองทั้งสิ้น ๘๒ บทความ และได้มีการคัดเลือกบทความเพื่อให้รับรางวัลจำนวน ๖ รางวัลดังนี้
๑. รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายสาขาวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย ๓ รางวัล
รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่น แบบบรรยายระดับชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปณิธาน บรรณาธรรม
บทความเรื่อง การสื่อความหมายในเพลงประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดีมาก แบบบรรยายระดับชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณา โชคบันดาลสุข
บทความเรื่อง การถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าตีนจกไท-ยวนในจังหวัดราชบุรี
รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดี แบบบรรยายระดับชาติ
อาจารย์ภัทริยา ศรีสุข
บทความเรื่อง เอกลักษณ์ของวังสวนสุนันทาที่ปรากฏในวรรณกรรมประเภทสารคดี กรณีศึกษาเรื่อง ชีวิตในวัง ของ ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์
๒. รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายสาขาสังคมศาสตร์ประกอบด้วย ๓ รางวัล
รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่น แบบบรรยายระดับชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิศีโรตม์ เกตุแก้ว
บทความเรื่อง การออกแบบและการสร้างเครื่องพ่นก๊าซโอโซน แบบปรับปริมาณความเข้มข้นของก๊าซโอโซนได้ โดยใช้เทคนิคการเปลี่ยนความเข้มสนามไฟฟ้า
รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดีมาก แบบบรรยายระดับชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ต๊ะปินตา
บทความเรื่อง การประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากองค์ประกอบ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
รางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดี แบบบรรยายระดับชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวีป พรหมอยู่
บทความเรื่อง การพัฒนาการแจกแจงความน่าจะเป็นของตัวแปรสุ่มทวินามลบ-ลินเลย์และการประยุกต์
นอกจากนี้แล้วทางการประชุมสวนสุนันทาวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๒ ยังได้จัดให้มีการประกวด “น้ำพริกลงเรือ ตำรับสำนักพระวิมาดาเธอฯ”โดยได้รับความสนใจจากผู้ที่สนใจทั้งหมด ๒๑ ทีม และผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด ๕ รางวัลดังนี้
รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล ๑๕,๐๐๐ บาท โล่ พร้อมใบประกาศนียบัตร
ได้แก่ ทีมกรรณิการ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท โล่ พร้อมใบประกาศนียบัตร
ได้แก่ ทีมช่อแก้ว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ เงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท โล่ พร้อมใบประกาศนียบัตร
ได้แก่ ทีมธัญกาฬ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
รางวัลชมเชย ๒ รางวัล เงินรางวัล ๓,๐๐๐ บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
ได้แก่ ทีม CHT อันดามัน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ตรัง และ
ทีม เจ้านาง FSI จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ทั้งนี้ทางสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะเจ้าภาพหลักขอกราบขอบพระคุณผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานทั้งในส่วนของการส่งบทความเข้าร่วมนำเสนอ ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยาย และผู้ที่ส่งทีมเข้าประกวดน้ำพริกทุกท่าน และทีมพิธีกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา มณีวัฒนา จากคณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อาจารย์ ดร.กัญญ์รัชการย์ นิลวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพและรายได้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และนายรวิโรจน์ สิงห์ลำพอง รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานประชาสัมพันธ์ กองกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มา ณ โอกาสนี้ด้วย
หลักการและเหตุผล
"อาหารชาววังนับเป็นอาหารชั้นเยี่ยม
เป็นความรู้ที่สั่งสมภูมิปัญญาและผสมผสานวัฒนธรรมภายในราชสำนักที่สืบเนื่องกันมานานนับศตวรรษ มีความพิถีพิถันในการปรุงรสชาติอาหารแต่ละชนิดขึ้นมาไม่เพียงแต่มีรสชาติอร่อย แต่ยังมีรูปลักษณ์ที่สวยงามและสามารถรับประทานได้ทุกส่วน"
พื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในปัจจุบัน คือพระราชอุทยานสวนสุนันทาในอดีต ซึ่งใช้เป็นที่ประทับของ พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และเจ้านายฝ่ายในทั้งหลาย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับได้ว่าสวนสุนันทามีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นสถานที่ต้นตำรับในศิลปะหลายแขนง เช่น ดนตรี นาฏศิลป์ และงานฝีมือ และมี 'อาหารชาววัง' เป็นหนี่งในเอกลักษณ์ที่ขึ้นชื่อ ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ยุทธศาสตร์ที่ 7 ส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมสู่สากล นั้น จึงควรที่จะเผยแพร่ตำรับอาหาร และงานฝีมือรวมทั้งศิลปะประดิษฐ์สู่สาธารณชนผ่านงานวิจัยต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลไทยได้ผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านงานวิจัยของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยและเนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี คหกรรมศาสตร์ สวนสุนันทาจึงได้จัดโครงการประชุมสวนสุนันทาวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๒ เรื่อง “ตำรับอาหารไทยสู่ครัวโลก : อาหารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน” ขึ้นซึ่งงานประชุมวิชาการครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ด้านคหกรรมศาสตร์ อาหาร และศิลปะประดิษฐ์ และจะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัย คณะอาจารย์ และนักศึกษา ได้แสดงองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดพัฒนาการทางการศึกษาและวิจัยด้านต่างๆ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการสำหรับนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมดังกล่าว ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข้มแข็งขององค์กร หรือความเป็นสถาบันการศึกษาได้เป็นอย่างดียิ่ง อีกทั้งได้รับการยอมรับจากสถานการศึกษาอื่นๆ อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา